ขั้นตอนการดำเนินงาน

Process

1. งานสะสางข้อมูลเดิม

จากผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่า งานการศึกษาวิจัยลำดับที่ 1 ของ ศมส. คือ “นิทรรศการข้อมูลทางมานุษยวิทยาของไทยเรื่อง ‘ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต’" จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อปี 2534 และผลงานล่าสุดจะเป็นงานการศึกษาวิจัยต่างๆ ที่เริ่มผลิต หรือให้ทุนในปี 2561 (ปีที่เริ่มดำเนินงานฐานข้อมูลงานการศึกษาวิจัยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร) อย่างไรก็ดี เมื่อสำรวจในเชิงลึกของข้อมูลแต่ละรายการกลับพบว่า ได้ปรากฎรายชื่อของโครงการ/ให้ทุน/งานวิจัย/หนังสือที่ซ้ำซ้อนกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งงานศึกษาวิจัยบางชิ้นที่เป็นการให้ทุนวิจัยบุคคภายนอก เพื่อดำเนินงานวิชาการให้นั้น คณะทำงานไม่สามารถตามหาหนังสือสัญญาการให้ทุน หรือหนังสือจัดจ้างเพื่อดำเนินงานทางวิชาการได้ จึงทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ผลงานการศึกษาดังกล่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ ศมส. แต่เพียงผู้เดียว หรือมีเงื่อนไขใดๆ ในการเผยแพร่หรือไม่ นอกจากนี้ แม้จะปรากฏรายชื่อผลงานการศึกษาในทะเบียนข้อมูล แต่เมื่อคณะทำงานตามหารูปเล่มและไฟล์ดิจิทัลของงานการศึกษาดังกล่าวจากผู้ที่เกี่ยวข้อง กลับพบการสูญหายไปเป็นจำนวนมาก โดยค้นพบเอกสารที่เป็นรูปเล่ม แต่ไม่ปรากฎไฟล์ดิจิทัล และผลงานการศึกษาที่มีเพียงแต่รายชื่อ แต่ไม่สามารถตามหาไฟล์ดิจิทัลและเอกสารที่เป็นรูปเล่มได้

2. งานแปลงสภาพเอกสาร

ฐานข้อมูลงานศึกษาวิจัยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เลือกที่จะแปลงสภาพเอกสารให้อยู่ในรูปแบบไฟล์ PDF ที่ความละเอียด 600 dpi เพื่อจัดเก็บเป็นไฟล์ดิจิทัลต้นฉบับ และจะให้บริการดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มที่มีการปรับค่าความละเอียดแล้วอย่างเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ออนไลน์ โดยจะมีการติดลายน้ำ (water mark) ไว้ในไฟล์เอกสารทุกฉบับที่มีให้บริการดาวน์โหลด เพื่อคงไว้ซึ่งสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของผลงานของ ศมส.

3. ออกแบบและพัฒนาระบบฐานข้อมูล

3.1 งานโครงสร้าง (data structure) และกำหนดรูปแบบการให้รายละเอียด (data content) ฐานข้อมูลงานศึกษาวิจัยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเลือกใช้ Dublin Core Metadata เป็นมาตรฐานหลักในการจัดทำโครงสร้าง และกำหนดรูปแบบการให้รายละเอียดข้อมูล อย่างไรก็ดี เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานในเชิงบริหารจัดการผลงานวิจัยขององค์กร และอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการที่ต้องการความเข้มข้นของข้อมูลมากกว่าการให้รายละเอียดข้อมูลทั่วไป คณะทำงานจึงได้เพิ่มส่วนขยายองค์ประกอบข้อมูล (SAC qualifier) เพิ่มเติมจากองค์ประกอบข้อมูลหลัก (Core metadata) ของ Dublin Core Metadata เพื่อให้รายละเอียดข้อมูลต่างๆ ในเชิงลึกได้เจาะจงมากขึ้น ตัวอย่างเช่น “รหัส LC” หรือ “หนังสือสัญญาเลขที่” เป็นต้น
3.2 งานพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูล นอกเหนือไปจากมาตรฐาน Dublin Core Metadata แล้ว คณะทำงานยังมีแผนที่จะทดลองนำเอาระบบมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูล OAI-PMH (Open Archives Initiative Protocol for Metadata Harvesting) มาใช้กับฐานข้อมูลงานการศึกษาวิจัยของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรด้วย ระบบดังกล่าวได้เปิดช่องทางให้คลังข้อมูลสถาบันอื่นๆ หรือนักพัฒนาซอฟแวร์ที่สนใจ สามารถเข้าถึงและเก็บเกี่ยวเมทาดาทาจากฐานข้อมูลนี้ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดสร้างองค์ความรู้ให้กับแวดวงวิชาการและสาธารณชนได้อย่างเสรี ภายใต้นโยบายการอนุญาตให้ใช้ข้อมูลและการนำข้อมูลไปใช้ใหม่ ในเบื้องต้น คณะทำงานได้กำหนดองค์ประกอบข้อมูลที่จะทำการแบ่งปัน ดังนี้

  • รหัส
  • ประเภท
  • ชื่อเรื่องหลัก
  • ชื่อเรื่องรอง
  • ชื่อนักวิจัย
  • ชื่อกลางนักวิจัย
  • นามสกุลนักวิจัย
  • สถานที่พิมพ์
  • ปีที่พิมพ์
  • คำอธิบาย/บทคัดย่อ
  • สารบัญ
  • หัวเรื่องอิสระ
  • สถานที่
  • 3.3 งานพัฒนาระบบฐานข้อมูล ฐานข้อมูลงานศึกษาวิจัยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ใช้ภาษา PHP ในการเขียนโปรแกรม และใช้ MAMP เป็นโปรแกรมจำลอง Web Server เพื่อทดสอบการเขียนรหัสคำสั่ง  โดยใช้โปรแกรม MySQL เป็นระบบจัดการฐานข้อมูล ซึ่งใช้โปรแกรม phpMyAdmin เป็นส่วนต่อประสานในการใช้งานโปแกรม MySQL
    3.4 งานออกแบบเว็บไซต์ หน้าเว็บไซต์ของฐานข้อมูลงานศึกษาวิจัยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ถูกออกแบบขึ้นภายใต้แนวคิด Minimalist Website Designs ซึ่งเน้นความเรียบง่าย (Simplicity) และดูสบายตา โดยในส่วนของการใช้สีและการจัดวางองค์ประกอบนั้น เน้นการนำเสนอเนื้อหาให้ตรงจุด และมีความเชื่อมโยงกันของข้อมูลภายในเว็บไซต์อย่างเป็นแบบแผน โดยพยายามหลีกเลี่ยงการสร้างความสับสนให้ผู้ใช้งานจากลูกเล่นต่างๆ ที่มากจนเกินไป ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลงานศึกษาวิจัยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้จากสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต
    3.5 ออกแบบสัญลักษณ์ (Logo) การออกแบบสัญลักษณ์ของฐานข้อมูลงานศึกษาวิจัยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการตีความว่า งานศึกษาค้นคว้าในอดีตได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือ และความรู้เหล่านี้ได้ส่งผ่านมาถึงยุคปัจจุบันโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้วยเหตุนี้ สัญลักษณ์ของฐานนี้จึงแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรก คือ มนุษย์ในฐานะที่เป็นเจ้าขององค์ความรู้และผู้จดบันทึก ส่วนที่สอง คือ หนังสือที่มีลายเส้นในการจดบันทึกเป็นแผงวงจรดิจิทัล

    4. งานให้รายละเอียดเมทาดาทา

    ชุดเมทาดาทาฐานข้อมูลงานการศึกษาศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ประกอบไปด้วย 16 แกนข้อมูลหลัก และ 57 องค์ประกอบข้อมูลย่อย องค์ประกอบข้อมูลเหล่านี้ได้รับการออกแบบขึ้นโดยตระหนักถึงความสำคัญในการให้รายละเอียดเนื้อหา บริบท และโครงสร้างของงานการศึกษาวิจัยของ ศมส. อย่างครอบคลุม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ และตัดสินใจเลือกใช้ข้อมูลแต่ละรายการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ชุดเมทาดาทาฐานข้อมูลงานการศึกษาศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สามารถแบ่งหน้าที่การใช้งานออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ซึ่งประกอบไปด้วยแกนข้อมูลหลัก 16 แกนที่มีขอบเขตและส่วนขยาย ดังนี้

    กลุ่ม แกนหลัก ขอบเขตและส่วนขยาย
    เนื้อหา TITLE เพื่อระบุ “ชื่อเรื่อง” ผลงานศึกษาวิจัยที่กำหนดโดยนักวิจัย หรือสำนักพิมพ์ ประกอบไปด้วย ชื่อเรื่องหลัก (Title), ชื่อรอง (Alternative Title)
    DESCRIPTION เพื่อระบุ “ลักษณะ/รายละเอียด” ของผลงานศึกษาวิจัย ประกอบไปด้วย คำอธิบาย/บทคัดย่อ (Abstract), สารบัญ (Table of Contents), ประวัติการสร้างและการเก็บรักษา (Provenance), สถาบัน/หน่วยงาน (Statement of Responsibility), งบประมาณ (Budget)
    SUBJECT เพื่อระบุ “หัวเรื่อง/คำสำคัญ” ของผลงานศึกษาวิจัย ซึ่งใช้เป็นช่องทางในการค้นคืนข้อมูล ประกอบไปด้วย หัวเรื่องหลัก (SAC Thesaurus), หัวเรื่องอิสระ (Free Term Subject)
    SOURCE เพื่อระบุ “แหล่งที่มา” ของงานศึกษาวิจัย และรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับต้นฉบับ ประกอบไปด้วย ไฟล์ต้นฉบับ (Digital File), ISBN, DOI, วันที่เข้าถึง (Day Accessed), เดือนที่เข้าถึง (Month Accessed), ปีที่เข้าถึง (Year Accessed), URL
    RELATION เพื่อระบุ “เรื่องที่เกี่ยวข้อง” และความสัมพันธ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลงานศึกษาวิจัย
    COVERAGE เพื่อระบุ “ขอบเขต/สถานที่และเวลา” ที่ปรากฎ หรือเกี่ยวข้องกับผลงานศึกษาวิจัย ประกอบไปด้วย สถานที่ (Spatial), ละติจูด (Latitude), ลองจิจูด (Longitude), Google map, เวลา (Temporal)
    รูปแบบที่ปรากฎให้ใช้งาน IDENTIFIER เพื่อระบุ “รหัส” ที่ใช้เรียกแทน และค้นคืนผลงานศึกษาวิจัย ประกอบไปด้วย รหัส LC (LC Call No.), รหัส (Identifier)
    TYPE เพื่อระบุ “ประเภท” ของผลงานศึกษาวิจัย ประกอบไปด้วย หนังสือ (book), วารสาร (journal), บทความ (article), วิทยานิพนธ์ (dissertation), รายงานวิจัย (research), รายงาน (report), อื่นๆ (other)
    PUBLISHER เพื่อระบุข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “การจัดพิมพ์” หรือเผยแพร่ผลงานศึกษาวิจัย ประกอบไปด้วย สถานที่พิมพ์ (Publication Place), สำนักพิมพ์ (Publisher), ปีที่พิมพ์ (Publication Year), เดือนที่พิมพ์ (Publication Month), ครั้งที่พิมพ์ (Edition Statement), ปี (Volume), ฉบับ (Issue), หน้า (Page)
    FORMAT เพื่อระบุ “รูปแบบ” ที่ปรากฎของผลงานศึกษาวิจัย ประกอบไปด้วย จำนวนหน้า (Total Pages), สื่อ (Medium), ความยาว (Extent)
    LANGUAGE เพื่อระบุ “ภาษา” ที่ใช้ในการอธิบาย และปรากฏในงานศึกษาวิจัย ประกอบไปด้วย รูปแบบภาษา (Language), ภาษาต้นฉบับ (Original Language)
    DATE เพื่อระบุ “วันที่” ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและการเปลี่ยนแปลงข้อมูล รวมถึงคำอธิบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วย วันที่สร้างชุดคำอธิบาย (Description Created Date), วันที่ส่งเข้าระบบ(Submitted Date), วันที่เผยแพร่ (Issued Date), วันที่ปรับปรุงข้อมูล (Updated Date), รายละเอียดการแก้ไข (Maintenance Notes)
    ทรัพย์สินทางปัญญา CREATOR เพื่อระบุ “นักวิจัย” ที่สร้างสรรค์ทรัพยากร ประกอบไปด้วย ชื่อนักวิจัย (First Name of Creator), ชื่อกลางนักวิจัย (Middle Name of Creator), นามสกุลนักวิจัย (Last Name of Creator)*
    CONTRIBUTOR เพื่อระบุ “ผู้มีส่วนร่วม” ในการสร้างสรรค์ผลงานศึกษาวิจัย ประกอบไปด้วย ชื่อผู้มีส่วนร่วม (First Name of Contributor), ชื่อกลางผู้มีส่วนร่วม (Middle Name of Contributor), นามสกุลผู้มีส่วนร่วม (Last Name of Contributor),บทบาทของผู้มีส่วนร่วม (Role of Contributor)
    RIGHTS เพื่อระบุ “สิทธิ์” ในผลงานศึกษาวิจัย และข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นต่อการนำไปใช้งาน ประกอบไปด้วย สิทธิ์ (Rights), รูปแบบลิขสิทธิ์ (Type of License), หนังสือสัญญาเลขที่ (Consent Form No.), ไฟล์หนังสือสัญญา (Digital File of Consent Form)
    ADMINISTRATOR เพื่อระบุรายนามและหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการ “บริหารจัดการ” ผลงานการศึกษาวิจัย ประกอบไปด้วย ผู้จัดทำ (Cataloger Name), ผู้ตรวจทาน (Digital Editor), ผู้ดูแลและนำเข้าข้อมูล (Database Administrator)
    * ตามมาตรฐานการให้รายละเอียดข้อมูลของ DCMI ในองค์ประกอบ CREATOR นั้น ได้กำหนดไว้ว่า หากเป็นภาษาไทยให้ระบุ ชื่อ-ชื่อกลาง-นามสกุล เช่น ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และหากเป็นภาษาอังกฤษให้ระบุ นามสกุล-ชื่อ-ชื่อกลาง เช่น Fairbank, John K. อย่างไรก็ดี เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานให้กับผู้ดูแลและนำเข้าข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ปฏิบัติงานจากฝ่ายวิชาการ และไม่มีความชำนาญมากนักในการให้รายละเอียดข้อมูลตามข้อบังคับของ DCMI คณะทำงานจึงจำเป็นต้องออกแบบองค์ประกอบข้อมูล CREATOR ให้มีส่วนขยายออกเป็น ชื่อ-ชื่อกลาง-นามสกุล เพื่อความสะดวกในการกรอกรายละเอียดข้อมูล อีกทั้ง การแตกองค์ประกอบข้อมูลดังกล่าว ยังจำเป็นต้องต่อการออกแบบระบบอ้างอิงอัตโนมัติ ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดเรียง ชื่อ-ชื่อกลาง-นามสกุล ทั้งในรูปแบบภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ ตามเงื่อนไขระบบอ้างอิง APA, MLA, HARVARD

    5. งานออกแบบระบบอ้างอิงอัตโนมัติ

    ศมส. สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการอ้างอิงผลงานทางวิชาการอย่างถูกต้องและเหมาะสม ด้วยเหตุนี้ คณะทำงานจึงได้พัฒนาระบบการอ้างอิงอัตโนมัติขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเลือก และคัดลอกรูปแบบการอ้างอิงในระบบ APA, MLA และ HARVARD เพื่อนำไปใช้ประกอบการอ้างอิงในผลงานของท่าน อย่างไรก็ดี ข้อมูลอ้างอิงบางรายการอาจมีความไม่สมบูรณ์ โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนนำไปใช้งาน