| | เข้าสู่ระบบ
มานุษยวิทยากับการศึกษาภัยพิบัติ (Anthropology of Disaster) นักมานุษยวิทยาศึกษาความแตกต่างหลากหลายของประสบการณ์และปฏิกิริยาที่ชุมชนมีต่อภัยพิบัติ เพื่อพัฒนาข้อเสนอที่จะช่วยให้ประเทศมีศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติได้ดีขึ้น การศึกษาภัยพิบัติในมิติทางสังคมวัฒนธรรมวางอยู่แบบแนวคิดนิเวศวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าความแตกต่างทางภูมินิเวศ ย่อมส่งผลต่อวิธีคิดและแบบแผนการปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน ขณะเดียวกันบริบทของความเป็นสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็เข้ามาเป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องที่มีนัยสำคัญไปพร้อม ๆ กัน การจัดการภัยพิบัติในสังคมสมัยใหม่ไม่ได้เป็นเรื่องของชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ “รัฐ” ยังเป็นตัวแสดงที่มีอำนาจและมีความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ในการสร้างแบบแผนรับมือภัยพิบัติ อย่างไรก็ตาม รัฐต้องมีความระมัดระวังและคำนึงถึงความรู้และวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้จัดการภัยพิบัติร่วมด้วย ในบางกรณีพบว่าวิธีคิดของรัฐส่วนกลางมักเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น และอาจสร้างช่องว่างหรือความขัดแย้งระหว่างความรู้ของผู้เชี่ยวชาญและความรู้ท้องถิ่น นอกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รัฐต้องคำนึงถึงนโยบายทางเศรษฐกิจและการเมืองที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะเปราะบางและความเสี่ยงต่อกลุ่มคนต่าง ๆ ในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มที่อาจเข้าไม่ถึงทรัพยากรและโอกาส การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและชุมชนจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง รัฐจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองและนโยบายที่มีลักษณะสั่งการจากบนลงล่างที่สร้างภาพให้ผู้ประสบภัยพิบัติเป็นเพียงเหยื่อผู้อ่อนแอ รอคอยสิ่งของบรรเทาทุกข์และการชดเชยค่าเสียหายเท่านั้น แต่ควรตระหนักถึงศักยภาพและประสบการณ์การเผชิญภัยพิบัติของชุมชน และควรส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้เชี่ยวชาญและคนในท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ช่วยพัฒนาศักยภาพในการเผชิญกับภัยพิบัติในโลกร่วมสมัย