| | เข้าสู่ระบบ
หลอนวิทยา: ฌากส์ แดร์ริดา กับปีศาจแห่งอดีตที่ไม่ยอมตาย (Hauntology) การย้อนกลับมาและการคงอยู่ของอดีต คล้ายกับวิญญาณของคนตายที่กลายร่างเป็นภูตผี และความปรารถนาของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นจากการหวนคิดถึงอดีตและการคาดหวังถึงอนาคต Hauntology ในมุมมองมานุษยวิทยาช่วยทำให้เห็นสภาวะตัวตนที่ไร้ขอบเขตได้กระจ่างขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาประสบการณ์แห่งความทรงจำ ซึ่งแต่เดิมมักจะมองเฉพาะปมทางจิตของบุคคลที่ส่งผลให้เกิดความเศร้าและเจ็บปวดทางใจ แต่แนวคิด Hauntology ได้เสนอการทำความเข้าใจสภาวะของตัวตนในฐานะเป็น “ความไม่ต่อเนื่อง” ตัวตนของบุคคลในอดีตมิได้เป็นสิ่งเดียวกับการมีตัวตนในเวลาปัจจุบันและอนาคต การศึกษาตัวตนในมิตินี้ทำให้เห็นว่าความทรงจำและความปรารถนาที่มนุษย์มีสามารถสร้างความหมายของการมีตัวตนข้ามช่วงเวลาต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเวลาที่ตายตัว ความทรงจำในฐานะเป็นภาพหลอนที่ตามติดตัวมนุษย์ จึงเปรียบเสมือนเป็นระบอบอำนาจที่ทำให้มนุษย์มีความรู้สึก ประสบการณ์และความทรงจำที่เจ็บปวด เป็นทั้งสภาวะที่ถูกปกปิดและเปิดเผยภายใต้โลกทางสังคม ในการวิเคราะห์สังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและการเอารัดเอาเปรียบมนุษย์ แนวคิด Hauntology ช่วยทำให้เห็นสภาวะของการผลิตซ้ำอำนาจที่กดขี่ข่มเหง ในโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง แนวคิด Hauntology จะช่วยทำความเข้าใจความทรงจำและประสบการณ์ที่ขมขื่นที่ยังหลอกหลอนมนุษย์ปัจจุบันในรูปแบบที่หลากหลาย ชีวิตประจำวันของมนุษย์ดำเนินไปพร้อมกับความทรงจำอันเจ็บปวดที่แตกต่างกัน และถูกทำให้เป็นความมุ่งหวังและตัวแทนของเวลาแห่งอนาคตที่กำลังจะมาถึง