| | เข้าสู่ระบบ
สิทธิทางวัฒนธรรม (Cultural rights) ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความพึงพอใจจากการบริหารจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมและมรดกวัฒนธรรม รวมทั้งดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยปราศจากอคติและการเหยียดหยาม สิทธิทางวัฒนธรรมเป็นกรอบแนวคิดที่ค่อนข้างกว้าง ถูกนำเสนอตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา โดยมีความเกี่ยวข้องกับสิทธิของกลุ่มชนพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มวัฒนธรรมรองในรัฐอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในหลายประเทศประเด็นการเรียกร้องและการให้สิทธิทางวัฒนธรรมเกิดจากการยอมรับว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับบุคคล และบุคคลจะทนทุกข์หากอัตลักษณ์ต้องสูญเสียไปหรือไม่ได้รับการยอมรับ ทั้งนี้ในแวดวงมานุษยวิทยาก็ได้มีการอภิปรายถกเถียงกันมายาวนานจากนักวิชาการที่เชื่อในวัฒนธรรมสัมพัทธ์ ต่อประเด็นสิทธิทางวัฒนธรรมภายใต้ร่มเงาของสิทธิมนุษยชนสากล โดยในปี 1947 หนึ่งในสมาคมที่มีชื่อเสียงของนักมานุษยวิทยาได้ออกแถลงการณ์ Statement on Human Rights ตั้งข้อสังเกตหลักว่าคุณค่าและมาตรฐานในสังคมหนึ่งๆ มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมซึ่งสืบสานกันมา การเคารพวัฒนธรรมที่แตกต่างคือความสำคัญอันเท่าเทียมกัน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้จะนำไปใช้กับมนุษย์ทุกหมู่เหล่าได้อย่างไร และมันคือถ้อยแถลงเกี่ยวกับสิทธิที่ก่อตัวขึ้นจากคุณค่าในแบบประเทศยุโรปตะวันตกหรืออเมริกาใช่หรือไม่? กระทั่งต่อมานักมานุษยวิทยาเริ่มมองเห็นหนทางในการใช้ความรู้ทางมานุษยวิทยาเพื่อสนับสนุนสิทธิของกลุ่มชนพื้นเมืองในมิติของสิทธิทางวัฒนธรรม ที่กำลังเป็นเหยื่อจากการถูกกระทำของรัฐและบรรษัทข้ามชาติมากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความรู้ทางมานุษยวิทยานั้นได้รับรองสิทธิโดยทั่วไปของผู้คนและกลุ่มคนต่างๆ ในการเข้าถึงวัฒนธรรมของตน รวมทั้งสิทธิในการผลิต สิทธิในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและรูปแบบทางกายภาพ การดำรงอยู่ส่วนบุคคลและของกลุ่มตน ตราบใดที่กิจกรรมเหล่านั้นไม่ลดทอนหรือละเมิดต่อผู้อื่น และมานุษยวิทยาเป็นสาขาวิชาที่มีการใช้ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาของมนุษย์ โดยที่ยังคงตระหนักดีว่าสิทธิมนุษยชนไม่ใช่แนวคิดที่คงที่ตายตัว