| | เข้าสู่ระบบ
การศึกษามานุษยวิทยาไซบอร์ก เป็นการทำความเข้าใจวิธีการที่สิ่งต่างๆ เชื่อมโยงเข้าหากันและทำให้ความเป็นมนุษย์ไม่หยุดนิ่งและปราศจากความมั่นคงถาวร ตัวตนของมนุษย์เต็มไปด้วยการเชื่อมโยงของวัตถุสิ่งของที่สร้างความรู้สึกของการดำรงอยู่ มานุษยวิทยาไซบอร์กจึงแสวงหาการดำรงอยู่ของวัตถุสิ่งของที่เสริมสร้างและเป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ โดยมองความซับซ้อนของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ พร้อมทั้งสร้างประสบการณ์ใหม่ให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะอยู่กับความแตกต่างหลากหลาย โจทย์ที่ท้าทายสำหรับนักมานุษยวิทยาก็คือ เราจะอธิบายการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ ในฐานะที่เป็นประสบการณ์ได้อย่างไร เมื่อเทคโนโลยีได้ปรับเปลี่ยนชีวิตมนุษย์ให้เป็นส่วนผสมของวัตถุต่างๆ มนุษย์จะมิใช่ร่างทางชีวภาพ แต่เป็นร่างเทคโน-ชีวภาพ หรือร่าง hyper-body เทคโนโลยีทำให้ความหมายของมนุษย์ ครอบครัว สังคม ชุมชน ความเป็นพลเมือง เพศสภาพ เพศวิถี เชื้อชาติ ได้เปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมแบบใหม่ ผู้ที่กุมความรู้และเทคโนโลยีอาจเป็นผู้ควบคุมโลกและมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของพลเมืองในอนาคต นอกจากนั้น มิติทางศีลธรรมของเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงมิได้ ถ้าเทคโนโลยีทำให้คนบางคนละเมิดชีวิตของผู้อื่น เทคโนโลยีนั้นจะถูกตรวจสอบได้อย่างไร ปัญหาเหล่านี้คือการเมืองแบบใหม่ที่ไซบอร์กนำมาสู่สังคม การแพร่หลายของไซบอร์กในรูปแบบของเทคโนโลยีต่างๆ จึงเป็น “อำนาจทางเทคโนโลยี” การมองเทคโนโลยีในเชิงบวกและเป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำให้มนุษย์มีความก้าวหน้าหรือมีชีวิตที่สมบูรณ์อาจเป็นการมองในเชิงอุดมคติ ฉะนั้น การศึกษาไซบอร์กจึงควรวิพากษ์วิจารณ์รูปแบบอำนาจที่เข้ามาควบคุมมนุษย์แบบใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้น