| | เข้าสู่ระบบ
โคลงทวาทศมาส จัดเป็นกวีนิพนธ์ประเภท นิราศ คือเรื่องราวที่ว่าด้วยการพลัดพรากระหว่างกวีกับคนรัก แต่โคลงนี้ มีกลวิธีผูกเรื่องที่พิเศษกว่านิราศอื่น ๆ ที่นิยมดำเนินเรื่องผ่าน ระยะทาง จากการเดินทางไกลของกวี กล่าวคือ โคลงทวาทศมาสใช้ กาลเวลา ที่แปรเปลี่ยนในแต่ละเดือน ประหนึ่งกวีไม่ได้เดินทางไปไหน กวีจึงดำรงฐานะในเรื่องราวเป็น ผู้รอคอยการกลับมา ของคนรักที่หนีหายไป กลวิธีที่ใช้ การรอคอย นี้ ได้ตอกย้ำธรรมชาติของมนุษย์ที่ถือว่า การรอคอย เป็นความทนทุกข์ทรมานใจอย่างที่สุดมากยิ่งกว่าการจากกันด้วยเดินทางไกล ที่บางครั้งได้มีโอกาสเปิดหูเปิดตา หรือพบเจอสิ่งใหม่ ๆ ให้คลายทุกข์ไปได้บ้าง แต่การอยู่กับที่อยู่กับสิ่งเดิมๆ และเฝ้ารอใครบางคนนั้น เป็นความทุกข์ทั้งกายและใจอย่างยิ่ง และนี่คือ กลวิธีการเพิ่มมูลค่า ความทุกข์ทรมานใจให้กับโคลงทวาทศมาสได้อย่างแยบยล