| | เข้าสู่ระบบ
องอาจ หาญชนะวงษ์ ศึกษาภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องการระบาด Outbreak (ค.ศ. 1995) 28 Weeks Later (ค.ศ.2007) และ Contagion (ค.ศ. 2011) ถ่ายทอดบทความวิจัย สุนทรียศาสตร์ของการอยู่ร่วมกันในภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับโรคระบาด ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับโรคระบาด ซึ่งมีตัวละครที่เปรียบได้กับประชากรในสังคมที่มีความเป็นสัญญะเชิงอำนาจ ได้แก่ ทหารเป็นตัวแทนความอนุรักษ์นิยม แพทย์เป็นตัวแทนของการปรับตัว และประชาชนเป็นตัวแทนของความหลากหลาย โดยดำเนินเรื่องผ่านเหตุการณ์วิกฤตที่มีเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และทหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์และฟื้นฟูพื้นที่ แต่ด้วยเป้าหมายหลักที่มีความแตกต่างกันจึงทำให้เกิดความขัดแย้งที่นำไปสู่การช่วงชิงอำนาจในการกำหนดมาตรการ ฝ่ายแพทย์มีอุดมการณ์คือสุขภาพต้องมาก่อน ส่วนฝ่ายทหารมีเป้าหมายในการรักษาความมั่นคงของรัฐเป็นอันดับแรก จึงมีการแทรกแซงโดยใช้กำลัง มีแนวคิดการทำศึกแบบสงคราม บางครั้งจึงยอมให้มีการสูญเสียเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย ในขณะที่ฝ่ายประชาชนมีความตื่นตระหนกและต้องการอิสรภาพทำให้มีการขัดขืนหลบหนีจากเขตกักกันโรค ภาพยนตร์ได้มีการนำเสนอถึงความน่ากลัวของไวรัสผ่านสัญญะต่างๆ ทั้งในรูปแบบสมจริง และในรูปแบบเหนือจริง รวมถึงมีการสื่อสารถึงแนวความคิดในประเด็นที่ว่า แม้ไวรัสจะมีความรุนแรงน่ากลัว แต่หากใช้อำนาจอย่างไม่มีมนุษยธรรมในท้ายที่สุดสิ่งที่มนุษย์กระทำต่อกันอาจมีความรุนแรงกว่าหลายเท่า