| | เข้าสู่ระบบ
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส (COVID 19) รัฐมีมาตรการเฝ้าระวังและให้ความสำคัญต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ การดำเนินมาตรการปิดสถานศึกษา สถานบันเทิง พื้นที่เสี่ยงต่อการชุมนุมของผู้คนจำนวนมาก ตลอดจนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์ การระบาดของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงตั้งแต่วัน ที่ 26 มีนาคม 2563 หรือที่เรียกว่า การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) มาตรการเหล่านี้ในแง่หนึ่งก็เป็นสิ่งที่รับรู้และปรากฏอยู่ทั่วไป ซึ่งคนเมืองหรือผู้คนในชุมชนท้องถิ่นทั่วไปสามารถรับรู้และปฏิบัติตามได้ไม่ยากนัก เนื่องจากเป็นรูปแบบการสื่อสารและการใช้ภาษาที่คุ้นชิน แต่ในกรณีของชุมชนชาติพันธุ์หรือกลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่แตกต่าง ทั้งภาษา การดำรงชีวิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ การอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและเดินทางลำบาก การลงจากดอยไปโรงพยาบาลหรือเข้าเมืองหาซื้อหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ยารักษาโรค อาจไม่ใช่แนวทางที่กลุ่มชาติพันธุ์จะสามารถปฏิบัติได้โดยง่าย รวมทั้งการมีรายได้จำกัด ยิ่งทำให้มาตรการเฝ้าระวังที่รัฐออกมานั้นแทบจะไม่ครอบคลุมสอดคล้องกับการปฏิบัติจริงในพื้นที่ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์